คีลอยด์ คืออะไร รักษายังไง ? แผลคีลอยด์หลังผ่าตัด ป้องกันได้ไหม ?

เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากมีแผลเป็น โดยเฉพาะแผลเป็นในบริเวณที่สังเกตเห็นชัดเจน หรือแผลเป็นที่มีขนาดใหญ่จนทำให้เสียความมั่นใจ ซึ่งแผลคีลอยด์ คือหนึ่งในแผลเป็นที่สายศัลยกรรมความงามหวาดกลัว เพราะแทนที่จะดูดีขึ้นหลังจากผ่าตัด กลายเป็นต้องคอยกังวลกับคีลอยด์ ที่มีแนวโน้มจะใหญ่ขึ้นทุกวันแทน

คีลอยด์ คืออะไร ?

แผลคีลอยด์ ที่มา : dermnetnz.org

Keloid│คีลอยด์ คือแผลเป็นที่จะขยายใหญ่เกินกว่าขอบเดิมของแผล มักยกสูงจากผิวเกิน 4 มิลลิเมตร มีสีชมพูจนถึงม่วงเข้ม ผิวของคีลอยด์มีทั้งนุ่ม ยืดหยุ่น และแข็ง โดยอาจทำให้มีอาการคัน เจ็บ หรือไวต่อความรู้สึกได้ ซึ่งควรแยกระหว่างคีลอยด์ กับแผลเป็นนูน (Hypertrophic Scars) ให้ชัดเจน เพราะถึงจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่กลับตอบสนองต่อการรักษาได้ต่างกัน ซึ่งแผลเป็นนูนจะมีแนวโน้มที่ดีกว่ามาก

สาเหตุของคีลอยด์ เกิดจากอะไร ?

ข้อสันนิษฐานเบื้องต้น คือบริเวณแผลเกิดการสร้างคอลลาเจน มากกว่าทำลาย ส่วนสาเหตุที่แท้จริงว่า คีลอยด์ เกิดจากอะไรนั้นยังไม่ชัดเจน แต่ข้อมูลในตอนนี้ระบุได้ว่า คีลอยด์มักเกิดจากการอักเสบ ตามหลังการผ่าตัด, แผลไฟไหม้, แผลถลอก, แมลงกัด, เจาะร่างกาย, ฉีดยาและวัคซีน

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดคีลอยด์ หลังผ่าตัด

แผลคีลอยด์หลังการผ่าตัด บริเวณหน้าอกและท้อง
ที่มา : Plastic Surgery (2013) หน้า 303

ปัจจัยเสี่ยงเฉพาะบุคคล

  • อายุ 10 – 30 ปี
  • การตั้งครรภ์
  • คนแอฟริกันและคนเอเชีย มีโอกาสเกิดคีลอยด์ 4.5 – 16%
  • เคยเป็นคีลอยด์ หรือแผลเป็นนูนมาก่อน
  • มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้แผลหายช้า เช่น ขาดสารอาหาร, ขาดธาตุเหล็ก, อ้วน, สูบบุหรี่

ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการผ่าตัด

  • ผ่าตัดบริเวณที่เกิดคีลอยด์บ่อย เช่น ติ่งหู, หัวไหล่, หน้าอก, หลังส่วนบน
  • คีลอยด์ เกิดจากเทคนิคผ่าตัดไม่เหมาะสมก็ได้ เช่น เย็บแผลแน่นเกิน, เปิดแผลลึกมาก
  • เนื้อเยื่อช้ำมาก เช่น คีลอยด์ทำจมูก ที่เกิดหลังเลาะซิลิโคนเก่าพร้อมพังผืดออก หรือเกิดหลังจากเสริมจมูกแบบโอเพ่น ที่ต้องขูดฟิลเลอร์เก่าออกด้วย
  • แผลหายช้าเกิน 3 สัปดาห์ เพราะแผลติดเชื้อ หรือแผลแยก

แผลคีลอยด์ รักษายังไงได้บ้าง ?

วัตถุประสงค์ในการรักษาคีลอยด์ คือทำให้ผิวกลับมาเรียบเนียน, กำจัดความเจ็บปวด และป้องกันการเกิดซ้ำ ซึ่งต้องใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน เพราะหากเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งอย่างเดียว มีโอกาสที่คีลอยด์จะเกิดซ้ำได้ถึง 100%

การผ่าตัด

การผ่าตัดเพียงอย่างเดียว มีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูง 45 – 100% จึงแนะนำให้ทำร่วมกับวิธีอื่นเสมอ

ใช้ผ้ายืดรัด

คีลอยด์ คือแผลที่เกิดจากการสะสมของคอลลาเจนมากเกินไป ซึ่งการใช้ผ้ารัดแผล (Pressure garment) จะทำให้การรวมตัวของเซลล์ลดลง และช่วยลดการทำงานของเซลล์ได้

ปิดแผลด้วยแผ่นซิลิโคน

แผลคีลอยด์ รักษายังไงด้วยตัวเอง ? การปิดแผลด้วยแผ่นซิลิโคนวันละ 24 ชั่วโมง นาน 3 เดือน อาจช่วยให้ดีขึ้น

ฉีดยาสเตียรอยด์

การฉีดสเตียรอยด์เข้าคีลอยด์ทุก 2 – 3 สัปดาห์ จะช่วยลดการอักเสบ และลดการสร้างไฟโบรบลาสต์ ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของคอลลาเจนได้ จึงทำให้แผลนุ่มลง, แบนลง, เจ็บน้อยลง แต่มักจะกำจัดคีลอยด์ได้ไม่หมด

แผลคีลอยด์หลังผ่าตัด ป้องกันได้ไหม ?

เลือกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

คีลอยด์ คือแผลที่ควรป้องกันมากกว่ารักษา เพราะวิธีดูแลแผลค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้นจึงควรใส่ใจในการเลือกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อยที่สุด บวมช้ำน้อยที่สุด และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน

ดูแลแผลให้หายเร็วที่สุด

  • เปิดแผลครั้งแรกหลังจากผ่าตัด 48 – 72 ชั่วโมง เพื่อลดเสี่ยงติดเชื้อ
  • ปิดแผลด้วยซิลิโคนเจล เพื่อรักษาความชุ่มชื้น
  • ดูแลแผลผ่าตัดอย่างถูกวิธี
  • ถ้าผ่าตัดในบริเวณที่เสี่ยงเกิดคีลอยด์ อย่างผ่าตัดเสริมหน้าอก หรือดูดไขมันหน้าท้อง แนะนำให้ใช้ผ้ายืดรัดแผลด้วย
  • ใช้สมุนไพรที่อาจช่วยเร่งให้แผลหายเร็วขึ้น เช่น น้ำใบบัวบก, น้ำฟักทอง, โสมคน

สรุป

คีลอยด์ คือแผลเป็นที่ใหญ่เกินขอบแผลเดิม ซึ่งยังไม่มีสาเหตุการเกิดที่ชัดเจน แต่การผ่าตัดที่ทำให้เนื้อเยื่อบอบช้ำมาก, อักเสบนาน, แผลหายช้า อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดคีลอยด์ได้

อ้างอิงจาก

[1]   Nazzal M, Osman MF, Albeshri H, Abbas DB, Angel CA. Wound Healing. In: Brunicardi FC, Andersen DK, Billiar TR, Dunn DL, Hunter JG, Kao LS, et al, editors. Schwartz’s Principles of Surgery. 11th ed. New York: McGraw-Hill; 2019. p.291-300.

[2]   Boukovalas S, Aliano KA, Phillips LG, Norbury WB. Wound Healing. In: Townsend CM, Beauchamp RD, Evers BM, Mattox KL, editors. Sabiston: Textbook of Surgery: The Biological Basis of Modern Surgical Practice. 21st ed. Missouri: Elsevier; 2022. p.119-149. 

[3]   Lorenz P, Bari AS. Scar prevention, treatment, and revision. In: Neligan PC, Gurtner GC, editors. Plastic Surgery. 3rd ed. New York: Elsevier; 2013. p.297-318.

[4]   บุญชัย ทวีรัตนศิลป์. แผลเป็นชนิดนูนและคีลอยด์ (Hypertrophic Scars and Keloids). ใน: พรชัย โอเจริญรัตน์, วิทูร ชินสว่างวัฒนกุล, วีรพัฒน์ สุวรรณธรรมา, กวีศักดิ์ จิตตวัฒนรัตน์, สุขไชย สาทถาพร, มาวิน วงศ์สายสุวรรณ, บรรณาธิการ. ศัลยศาสตร์วิวัฒน์ 38 Basic Science in Surgery Volume 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร; 2552. หน้า 706-716.